สำนักงานศุลกากรหนองคาย
Nongkhai Customs Office
 

ประวัติด่านศุลกากรหนองคาย

ประวัติด่านศุลกากรหนองคาย

ความเป็นมาดั้งเดิม

จังหวัดหนองคาย เดิมเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่ง ตามพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.2321 พระยาจักรี และพระยาสุรสีห์ยกทัพไปตีเมืองลานช้าง (เวียงจันทน์) โดยผ่านทางเรือจากนครจำปาศักดิ์ ตีได้เมืองนครพนม และ "เมืองหนองคาย" ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 พุทธศักราช 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์แข็งข้อไม่ยอมอ่อนน้อมต่อไทย ยกทัพลงไปตีกรุงเทพฯ ถึงเมืองนครราชสีมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีซึ่งต่อมาคือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพต่อสู้กับเจ้าอนุวงศ์จนได้รับชัยชนะ แล้วโปรดเกล้าให้บำเหน็จความดีความชอบแก่แม่ทัพนายกอง โปรดเกล้าให้ท้าวสุวอ (บุญมา) อัครฮาด หลานเจ้าพระยาวิชัยราชขัติยวงศา (หน้า) เจ้านครจำปาศักดิ์ เลือกเมืองพานพร้าว เมืองเวียงคุก เมืองปะโค และบ้านไผ่ ตั้งเป็นเมืองขึ้นใหม่ ท้าว สุวอ(บุญมา) เห็นว่าบ้านไผ่เหมาะสมที่จะเป็นเมืองมากกว่าเมืองอื่น ๆ ซึ่งพระราชสุภาวดีตรวจดูแล้วเห็นพ้องด้วย จึงพระราชทานนามว่าเมืองหนองคาย และโปรดเกล้าฯ ท้าวสุวอ (บุญมา) เป็นพระปทุมเทวาภิบาลครองเมืองหนองคาย ตั้งแต่จุลศักราช 1189 ร.ศ.46 พุทธศักราช 2370 เป็นต้นมา

ในครั้งนั้นการจัดเก็บภาษีอากรใช้วิธีประมูลผูกขาดตัดตอน ผู้ได้รับอนุญาตให้ผูกขาดในการจัดเก็บภาษี เรียกว่า "เจ้าภาษี" และเรียกสถานที่ตั้งเก็บว่า "โรงภาษี" สถานที่สำหรับเจ้าพนักงานไปดักตรวจตราคนเข้าออก สดับตรับฟังข่าวเหตุการณ์บ้านเมือง และตรวจตราไม่ให้มีการลักลอบค้าอาวุธหรือของต้องห้ามเรียกว่า "ด่าน" และเรียกผู้เป็นหัวหน้าว่า "ขุนด่าน" โรงภาษีกับด่านจึงแยกกันเป็นเอกเทศ สถานที่ทั้งสองแห่งอยู่ห่างไกลกันไม่สะดวกแก่ราษฎรในการติดต่อ ในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ฯ ว่าที่สมุหกลาโหม ออกหมายประกาศเมื่อ วันที่ 5ฯ12 1 ปีฉลู สัปตศกจุลศักราช 1227 สั่งว่า "ตั้งแต่นี้สืบไปให้บังคับเจ้าภาษีให้ยกโรงภาษีบรรดาตั้งเก็บเรียกอยู่ ณ แขวงหัวเมืองให้มารวมตั้งติดอยู่กับด่านจงทุกแห่งทุกตำบล ราษฎรจอดด่านแล้วให้เจ้าภาษีมาตรวจดูสิ่งของที่ต้องตามภาษีให้เจ้าภาษีเรียกเก็บเอาแต่ราษฎรตามพิกัดท้องที่ เมื่อเจ้าภาษีมีความวิวาทราษฎรจะได้อ้างชาวด่านเป็นพยานถ้าชาวด่านจับของต้องห้ามได้หรือชาวด่านวิวาทกับราษฎรจะได้อ้างเจ้าภาษีเป็นพยานห้ามมิให้ภาษีแยกย้ายตั้งอยู่ห่างจากด่านเหมือนแต่ก่อน" เมืองหนองคายจึงกำหนดให้ด่าน และโรงภาษีมาตั้งรวมกันที่บริเวณเดียวกันสันนิษฐานว่าตั้งอยู่บริเวณท่าเรือตลาดหลวง และท่าเทียบเรือวัดหายโศก ตำบลมีชัย อำเภอเมือง ในปัจจุบัน

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เลิกวิธีประมูลผูกขาด เป็นรัฐบาลจัดเก็บเอง "ด่าน" และ "โรงภาษี" จึงเปลี่ยนเป็น "ด่านภาษี" และต่อมาได้กลายเป็น "ด่านศุลกากร" จนทุกวันนี้

พุทธศักราช 2420 พระปทุมเทวภิบาล (เคน) เป็นเจ้าเมืองหนองคาย พวกฮ่อได้รวมกำลังกันเข้าเป็นจำนวนมาก ตีเมืองเวียงจันทน์ได้ และตั้งกองบัญชาการขึ้นที่เมืองเวียงจันทน์ ขณะนั้นเจ้าเมืองไม่อยู่ได้มอบให้ท้าวจันทน์ศรีสุราชรักษาเมืองแทน เมื่อพวกฮ่อยกพลมุ่งหน้าสู่เมืองหนองคายท้าวจันทน์ศรีสุราชพาครอบครัวหนีไปอยู่บ้านสามพร้าว จังหวัดอุดรธานี ทางด้านเมืองโพนพิสัย พระยาพิไสยสรเดช (หนู) กับกรมการเมือง และราษฎรก็พากันหนีออกจากเมืองไปด้วย ทางกรุงเทพฯ เมื่อได้ทราบข่าวก็มีพระบรมราชโองการให้พระยามหาอำมาตย์ ซึ่งตั้งทัพปราบฮ่อที่เมืองอุบลราชธานี ยกทัพเข้าเมืองหนองคายเพื่อป้องกันเมือง และสั่งให้จับท้าวจันทน์ศรีสุราช และพระยาพิไสยสรเดชประหารชีวิตเสียทั้งคู่ เสร็จแล้วพระยามหาอำมาตย์เกณฑ์กำลังจากหลายหัวเมือง เช่น นครพนม อุบลราชธานี เขมราฐ เป็นต้น ยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ที่ฮ่อยึดไว้ได้ และกวาดต้อนเชลยจากเวียงจันทน์มาสู่เมืองหนองคาย ครั้งพุทธศักราช 2427 พวกฮ่อรวมกำลังหวนกลับมาอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมทรงคุมกองทัพขึ้นไปสมทบปราบฮ่อ ซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเชียงขวาง และทุ่งเชียงคำ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จึงดำรัสให้พระอมรวิไสยสรเดช (โต บุนนาค) ยกทัพไปสมทบปราบฮ่อ คราวนี้กองทัพไทยเอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในค่ายของฮ่อ ฮ่อเกิดสับสนอลหม่านในที่สุดก็แตกหนีไป กองทัพไทยจึงกลับเมืองหนองคาย เมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อยแล้วกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจึงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อขึ้นที่จังหวัดหนองคาย เพื่อเป็นอนุสรณ์วีรกรรมทหารหาญที่ได้สู้รบกับพวกฮ่อและบรรจุอัฐิของผู้เสียชีวิตในการสู้รบ

พ.ศ.2434 ภายหลังปราบกบฏฮ่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นสมุหเทศาภิบาลประจำมณฑลลาวพวน(ต่อมาเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ และมณฑลอุดร) ตั้งที่ทำการมณฑลอยู่ที่เมืองหนองคาย พ.ศ.2436 ภายหลังเหตุการณ์ ร.ศ.112 ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส จึงได้ย้ายที่ทำการมณฑลไปตั้งอยู่บริเวณบ้านเดื่อหมากแข้ง และตั้งเป็นมณฑลอุดรมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ.2457 ทรงโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ โดยให้ยกเลิกระบบเจ้าปกครองนคร ในวันที่ 1 เมษายน 2458 จึงโปรดเกล้าให้ประกาศตั้งเมืองหนองคายขึ้นเป็นเมือง โดยมีข้าหลวงปกครองคนแรกชื่อว่าพระยาสมุทรศักดารักษ์ (เจิม วิเศษรัตน์)

การบังคับบัญชาด่านภาษีในครั้งนั้นยังขึ้นต่อข้าหลวงปกครอง อัตราการจัดเก็บภาษียังคงเป็นภาษีร้อยชักสามตามสนธิสัญญาบาวริ่งซึ่งได้ให้สัตยาบันกับอังกฤษ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2399 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตราบจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตัดสินพระทัยเข้าร่วมรบกับฝ่ายพันธมิตรในมหายุทธสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมพ.ศ.2460 และเป็นฝ่ายมีชัยชนะ ทำให้ไทยมีสิทธิเสียงพูดจากร้องอุทธรณ์เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมและเสมอภาคในเรื่องสิทธิสภาพนอกพระราชอาณาจักรเขต และสิทธิในการเก็บภาษีศุลกากรให้เท่าเทียมกับนานาอารยะประเทศ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระยาสรรพกิจปรีชา อัคราชทูตสยามกรุงโรมเป็นผู้แทนรัฐบาลสยาม ลงนามในหนังสือสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพิธีการศุลกากรกับโปรโตคล พร้อมกับผู้แทนรัฐบาลนานาประเทศที่กรุงเยเนวา เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนพ.ศ.2469 เป็นต้น สืบไปเป็นผลให้ประเทศไทยรับสิทธิในการเก็บภาษีศุลกากรเท่าเทียมกับนานาประเทศ และได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากรฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่26มีนาคม พ.ศ.2469 ราชการศุลกากรจึงได้มีการจัดระเบียบ และปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้ทันสมัยมาตามลำดับ

ด่านศุลกากรหนองคาย เป็นด่านศุลกากรทางบกมีเขตแดนติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นเขตแดน ในอดีตเป็น "ด่านเก็บภาษี" ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2458 ขึ้นอยู่กับข้าหลวงปกครอง (เจ้าเมืองหนองคาย) ในปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีการโอนด่านเก็บภาษีจากกระทรวงมหาดไทยไปขึ้นกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ สังกัดกรมสรรพากร จนกระทั่งปี พ.ศ.2462 ได้มีการโอนด่านเก็บภาษีจากกรมสรรพากรไปขึ้นกับกรมศุลกากร ตั้งแต่นั้นมา "ด่านภาษีหนองคาย" จึงสังกัด กรมศุลกากร และในปี 2481 ได้มีกฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2481 กำหนดเขตด่านศุลกากรหนองคาย และกำหนดให้ด่านศุลกากรหนองคายเป็นท่าหรือที่สำหรับการนำของเข้าและ ส่งของออกได้ทุกประเภท อีกทั้งได้มีกฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 10 ลงวันที่ 25 พฤษภาคมพ.ศ.2486 กำหนดด่านพรมแดนท่าบ่อ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ขึ้นกับด่านศุลกากรหนองคาย ในระยะแรกได้ฝากให้กรมสรรพากรเป็นผู้ดูแลด่านศุลกากรหนองคาย จนกระทั่งปี พ.ศ.2485 กรมศุลกากรได้แต่งตั้งนายสิทธิ สิทธิพงษ์ ไปปฏิบัติหน้าที่นายด่านศุลกากรหนองคายเป็นคนแรก แต่เดิมที่ทำการด่านศุลกากรหนองคายตั้งอยู่ที่ท่าเรือตลาดหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2493 ชั้นบนเป็นที่ทำการของสำนักงานศุลกากรภูมิภาคที่ 2 ส่วนชั้นล่างเป็นที่ทำการของด่านศุลกากรหนองคาย และด่านตรวจพืชจังหวัดหนองคาย แต่เนื่องจากพื้นที่คับแคบพ่อค้าประชาชนไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร ประกอบกับอาคารดังกล่าวได้รับการอนุรักษ์เป็นอาคารประวัติศาสตร์ไม่สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้ ด่านศุลกากรหนองคายจึงได้ย้ายไปอยู่ที่ศูนย์ราชการจังหวัดหนองคาย ตั้งอยู่ที่ถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2535

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ด่านศุลกากรหนองคายได้ย้ายที่ทำการจากถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย มาปฏิบัติงานที่อาคาร ด่านศุลกากรหนองคาย(ชั่วคราว) ถนนเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย แล้ว เนื่องจากที่ทำการเดิม มีพื้นที่จำนวน 8 ไร่ สถานที่คับแคบ ไม่สามารถปรับปรุงสถานที่หรือก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมเพื่อรองรับการปฏิบัติงานที่เพิ่มขึ้นได้ จึงได้ย้ายมาปฏิบัติงานที่อาคารด่านศุลกากรหนองคาย(ชั่วคราว) ภายในพื้นที่ก่อสร้างด่านศุลกากรหนองคายแห่งใหม่ บนพื้นที่ 40 ไร่ ซึ่งด่านฯ ได้รับงบประมาณจากกรมศุลกากร จำนวน 220 ล้านบาท ในปีงบประมาณ2559-2562 เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรหนองคายและลานตรวจสินค้าแห่งใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างประกอบ


ปัจจุบัน

ด่านศุลกากรหนองคายได้ย้ายมาที่ทำการแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 และได้ทำพิธิเปิดอาคารที่ทำการด่านศุลกากรหนองคายแห่งใหม่ เมื่อวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2562 เวลา 09.09 น. โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธาน ในพิธี โดยมีนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย และนายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ เอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ ให้เกียรติร่วมเปิดแพรคลุมป้ายชื่อด่านศุลกากรหนองคาย และได้ร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10 เป็นที่ระลึกในพิธีเปิดอาคารที่ทำการด่านศุลกากรหนองคายแห่งใหม่

 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 22 เมษายน 2563 10:45:44
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานศุลกากรหนองคาย
ถนนเฉลิมพระเกียรติ ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย 43000
หมายเลขโทรศัพท์ : 042-990900, 042-990904

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของสำนักงานศุลกากรหนองคาย
ลิขสิทธิ์ 2018 สำนักงานหนองคาย สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ